Last updated: 17 ส.ค. 2565 | 15091 จำนวนผู้เข้าชม |
บ้านหลังเล็กหลังคาจั่วประหยัดวัสดุในการก่อสร้างพักอยู่อาศัยได้จริง สามารถป้องกันจิ้งจกและแมลงเข้าบ้านได้โดยไม่มีฝ้าเพดานประหยัดค่าแรง หลายคนชอบถามว่าบ้านราคาถูกและประหยัดจริง ๆนั้นมันมีหรือเห็นสร้างกันตารางเมตรนึง 9,000 ขึ้นไปแต่ยังได้บ้านที่แตกร้าวไม่สมราคาหรือความตั้งใจของเจ้าของบ้าน
ตัวอาคารกว้าง 4.50 เมตรลึก 7.5 เมตรพื้นที่ใช้สอย 33 ตารางเมตรเหมาะกับคนโสดอยู่ตัวคนเดียวมีห้องนอนและห้องทำงานอยู่ในห้องเดียวกัน พื้นที่วางเครื่องซักผ้า
วันนี้ผมจะมานำเสนอแบบบ้านที่สามารถสร้างได้ราคาต่ำจริง และอยู่อาศัยได้ดีเหมือนการสร้างบ้านราคาแพง ๆ ได้ไม่แพ้กันอยู่ที่งบประมาณของเรา เนื่องจากบ้านที่ใช้งบประมาณก่อสร้างต่ำหรือมีเงินจำกัดนั้นเราต้องมีแนวทางในการปฎิบัติที่ประหยัดด้วยแต่ใช้งานได้สบายไม่ต้องกางมุ้งก็นอนได้แบบบ้านราคาหลักล้าน ซึ่งก่อนอื่นเลยผมอยากให้มองไปในเรื่องของแบบบ้านก่อน ซึ่งจะขาดไม่ได้เลยถ้าอยากสร้างบ้านประหยัดแบบถูก
เรามาพูดถึงแนวคิดตัวอย่างในการสร้างบ้านราคาถูกกันครับว่ามีอะไรบ้างบ้านถึงได้ถูก ?
หากเราดูจากแปลนพื้นบ้านแล้วคุณจะเห็นว่าขนาดบ้านไม่ใหญ่มาก แต่พื้นที่และฟังชั่นการใช้งานอัดแน่นไว้ในตัวบ้าน
งานดีโครงสร้างต้องมาดีก่อนอันดับแรก
มาเรื่องของฐานรากและคาน เราใช้ฐานรากขนาด1x1x0.25 เมตร ความลึกของฐานรากนั้นสำคัญมาก เริ่มต้นต้องลึกไปจนถึงดินแข็งและต้องฝังให้ลึกอย่างน้อย 70-1.00 เมตรฟังแล้วอาจไม่เข้าใจ หมายความว่าถ้าดินแข็งอยู่แล้วตั้งแต่ผิวดินก็ควรขุดให้ลึกอย่างน้อย 0.7 เมตร แต่ถ้าหากดินอ่อนแบบถมใหม่ ๆ สูงมาก ๆ เกิน 2 เมตรก็ต้องลงเข็มแล้วครับเพราะใช้การขุดฝังคงไม่คุ้มการลงทุน การฝังฐานเราลึกนั้นจะช่วยให้องค์อาคารยึดแน่นไม่ขยับ และป้องกันการถอนของตัวอาคารอันเกิดมาจากลม หลายคนคิดว่าฐานรากมีหน้าที่แค่รับน้ำหนักถ่ายลงอย่างเดียว จริง ๆแล้วไม่ใช่นะครับถ้าเป็นอาคารสูงจะมีผลมาก ๆ เลยกับการออกแบบฐานรากให้รับน้ำหนักการถอน
มีแง่คิดให้นะครับ สำหรับใครที่สร้างบ้านแถบชนบทซึ่งชาวบ้านชอบทำต่อ ๆ กันมาเพราะใช้เสาสำเร็จรูป การขุดหลุดของชาวบ้านจะขุดแค่ 50x50x50 แล้วเทลีนรองพื้นบาง ๆ เพื่อให้เรียบและตั้งเสา ถือว่าเป็นการวิบัติอย่างร้ายแรงสำหรับโครงสร้างนะครับ ต่อให้เป็นเสาสำเร็จรูปเราก็ต้องขุดลึกและเทฐานรากหนาพร้อมเสริมเหล็กตามแบบ ห้ามไปลดเป็นอันขาด การลดก็ต้องมีหลักการและประสพการณ์ของช่างก่อสร้าง
ความสูงของตัวบ้านมีผลกับราคาค่าก่อสร้างอย่างไร ?
คาน : ถึงจะเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ แล้วก็ต้องมีคานทุกกรณีเพราะรับนำหนักผนังและพื้นบ้านเพื่อถ่ายลงเสาและฐานราก บ้านหลังนี้มีระยะห่างระหว่างเสาอยู่ 4.50 เมตรและเป็นคานช่วงเดียวผมจึงได้ออกแบบคานไว้ที่ 20x50 แต่จะประหยัดเหล็กแกนที่ 4 DB 12 เท่านั้น บน 2 ล่าง 2 เหล็กปลอกก็ใช้ปรกติ ระยะห่าง 0.20 เมตรเพราะบ้านหลังนี้สร้างบนพื้นที่ดินแข็ง วางคานบนดินเดิมได้เลยแล้วพื้นบ้านจะยกที่ 60 เซน. เนื่องจากวางคานก็ 50เซนต์แล้วมีการเทพื้นคอนกรีตอีก 8 เซนต์ งานปูกระเบื้องอีก 4-5 เซน ตามหลักการทำงานจริง ๆ แล้วก่อนวางคานเราควรมีระดับพื้นดินรอบนอกที่แน่นอนก่อนเพื่อฝังท้องคานลงดินไปสัก 10 เซนเนื่องจากอยู่ไปนาน ๆ แล้วดินรอบบ้านจะทรุดตัว อาจจะ 7-8 ปีทรุดที่ 5เซนขึ้นอยู่กับการบดอัด เมื่อดินทรุดท้องคานจะได้ไม่ลอยเพราะเราฝังท้องคานไว้ การทำงานต่าง ๆ จึงต้องมีการคิดที่รอบคอบจากประสบการณ์
บอกก่อนเลยนะครับ ฐานรากและคานไม่ควรที่จะไปประหยัดนะครับ อย่างเช่นเทพื้นไม่ต้องมีคาน ตรงนี้บ้านพังแน่นอน เมื่อมีแบบบ้านและได้แบบบ้านไปจากเราต้องทำตามแบบอย่างเคร่งครัดถ้าอยากให้บ้านอยู่กับเราไปอย่างน้อย 30ปีขึ้นไป
พื้นและการเทพื้น ?
พื้นโดยส่วนมากแล้วหากให้ผ่านการคำนวณของวิศวกรก็ควรมีความหนา 8เซนติเมตรขึ้นไปครับ แบบบ้านที่ผมเขียนเป็นแบบ้านแบบประหยัดปลูกสร้างบนดินแข็งเพราะฉะนั้นพื้นจะเป็นพื้น On ground หรือพื้นวางบนดินไม่ใช่ถ่ายน้ำหนักทั้งดไปที่คาน ดังนั้นท่านสามารถเทพื้นที่มีความหนา 7-8 เซนติเมตรได้เลยครับ โดยใช้ wire mesh 3-4 มม.ตาห่าง 20# โดยไม่ต้องกังวลใดเพื่องบประมาณที่เรามี และให้เน้นการบดอัดทรายรองพื้นให้ดี
ผนัง : ผนังก่ออิฐฉาบปูน โดยวัสดุก่อที่ใช้เป็นอิฐบล็อก 7เซนติเมตรซึ่งสมัยก่อนมีขนาด 7x39x19 เซนติเมตรแต่เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องลดต้นทุนและขายราคาเดิม อิฐบล็อคส่วนใหญ่จะลดขนาดลงเหลือประมาณ 7x39x17 ความสูงของขนาดอิฐจะหายไป ราคาตกก้อนละประมาณ 5 บาทแต่ถ้าต้องการคุณภาพแบบเต็ม ๆ ก็ต้องลองดูที่ global house ก้อนละประมาณ 7-8 บาทขนาดมาตรฐานครับ ผนังอิฐชนิดนี้เมื่อเทียมราคาค่าวัสดุต่อตารางเมตรแล้วราคาถูกสุดแล้่วทั้งค่าของและค่าแรง
หลายคนถามหาความแข็งแรง จริง ๆแล้วไม่ว่าอิฐชนิดไหนถ้าขั้นตอนการก่อสร้างไม่ถูกต้องก็ไม่มีทางที่จะแข็งแรงได้ ข้อดีของอิฐชนิดนี้คือเบากว่าอิฐมอญประหยัดค่าแรงงานเพราะก้อนใหญ่ 12 ก้อนต่อตารางเมตรอิฐมอญราว ๆ 70 ก้อนต่อตารางเมตร ฉาบก็ง่าย สิ่งที่จะทำให้ผนังอิฐแข็งแรงนั้นคือ ทับหลังและทับข้างที่เราต้องพึงปฎิบัติห้ามมองข้ามแม้แต่จุดเดียว แล้วคุณจะได้บ้านที่มีมาตรฐานสูง ต่อให้คุณเลือกวัสดุเกรด A ขนาดไหนก็ตามที่ราคาแพง ๆ ดีที่สุดมาทำผนังแต่การทำงานไม่ถูกขั้นตอนบ้านคุณก็ไม่ต่างกับวัสดุขยะ สุดท้ายพังทุบทิ้ง
มาถึงเสากันบ้างครับ บ้านประหยัดจะมีแนวคิดเรื่องความสูงของเสาที่เราควรศึกษา เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่เคยชินกับการปรับความสูงหลังคาด้วยโครงสร้างเหล็กและมีอะเสวงบนหัวเสา และเนื่องจากทรงหลังคาจั่วนี้มีความสูงดั้งที่อยู่ตรงกลางและลาดเอียง 2ฝั่งจึงทำให้เราสามารถใช้ความสูงของเสาในการวางอกไก่เลยไม่ต้องมีอะเสทำให้ประหยัดค่าเหล็กหลังคาไปได้เยอะเลยทีเดียว
จากรูปตัดเราใช้เสาในการปรับความสูงอกไก่โดยไม่ต้องมีเหล็กรัดหัวเสาหรืออะเสทำให้ประหยัดเหล็กไปได้หลายเส้นเลยทีเดียว การทำงานอาจจะยากนิดนึงแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับช่างก่อสร้างอย่างแน่นอน ดังนั้นใครอยากทำบ้่านประหยัดจริงต้องมองให้ครบทุกขั้นตอนงานก่อสร้างเพื่อการประหยัดวัสดุตั้งแต่เริ่มแรก
โครงสร้างหลังคา : เป็นเหล็กกล่องที่สามารถเก็บงานได้อย่างง่ายดาย ปิดหัวเหล็กทั้งหมดเพื่อกันนกเข้าไปอยู่อาศัย สำหรับเหล็กอะเสาเราใช้เหล็ก [100x50x20x2.0 มม.เนื่องจากระยะห่าง 5 เมตรทำให้ต้องใช้เหล็กหนาหน่อย และเนื่องจากอกไก่ต้องรับน้ำหนักทั้ง 2 ด้านเราต้องประกบเหล็กหน่อยเพื่อความแข็งแรงของบ้าน เหล็กที่ใช้ก็จะเป็นเหล็กกัลวาไนซ์ เพื่อไม่ต้องเสียเวลาพ่นสีกันสนิม เราจะเก็บรอยเชื่อมด้วยสีสเปรย์สีบรอน ช่วยประหยัดเวลาและค่าแรง ค่าวัสดุได้อีกทาง เนื่องจากหลังนี้ใช้กระเบื้องลอนคู่น้ำหนักที่ลงโครงสร้างเหล็กจะมากหน่อย ถ้าต้องการให้น้ำหนักหลังคาเบาลงก็ให้ใช้เมทัลชีทในการทำวัสดุมุงแต่เสียงจะดังหน่อยเวลาฝนตก ดังนั้นต้องคิดถึงข้อดีข้อเสีย แต่ตามแบบบ้านหลังนี้นั้นเป็นแบบบ้านที่ยกเตียงขึ้นทำให้การนอนติดวัสดุมุง ผมแนะนำกระเบื้องลอนคู่นี่ละครับ
หลังนี้จะไม่มีฝ้าเพดานนะเนื่องจากจะประหยัดงบ ไม่มีทั้งภายในและภายนอก แต่ถ้าท่านใดต้องการฝ้าภายในก็สามารถที่จะใส่ฝ้าภายในได้ สำหรับบ้านประหยัดผมแนะนำฝ้าทีบาร์ เพราะเข้าถึงและดูแลพื้นที่ใต้หลังคาได้ง่าย ส่วนเรื่องไฟฟ้าก็สามารถที่จะร้อยทอสายไฟได้
ถึงบ้านจะเล็กและต้นทุนก่อสร้างต่ำแต่สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดถึงคือความแข็งแรงเป็นหลัก ห้ามมองข้ามขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ และประหยัดแบบผิดๆ ไม่เชื่อคำช่างว่าแค่นี้ก็อยู่แล้วแบบนี้ห้ามเด็ดขาด เราต้องทำตามแผนที่เราได้วางไว้ ยอมเสียเวลาให้เป็นไปตามกระบวนการการทำงานที่ถูกต้องอย่ารีบจนลืมผลที่จะตามมาอย่างเด็ดขาด
20 มี.ค. 2564